แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานกี่ปี และปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ

Last updated: 24 พ.ค. 2567  |  141 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานกี่ปี และปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ

อายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของแผงโซลาร์เซลล์

แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้งานในปัจจุบัน ได้ถูกพัฒนาด้านการรับพลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม ทำให้อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25–30 ปี จากนั้นประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะค่อยๆ ลดลง โดยคิดเป็นในช่วง 10 ปีแรกของการใช้งาน แผงโซลาร์เซลล์จะผลิตและส่งออกพลังงานเฉลี่ย 90% และในปีที่ 11- 25 แผงโซลาร์เซลล์จะผลิตและส่งออกพลังงานเหลือเพียง 80% จากนั้นประสิทธิภาพการผลิตและการส่งออกพลังงานจะค่อยๆ ลดลง แต่ก็ยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 30-40 ปี เลยทีเดียว 

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

คุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์

หากเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีการรับประกันคุณภาพ วัสดุในการใช้งานที่ไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้ประสิทธิภาพในการรับพลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตพลังงานไฟฟ้าลดลง อีกทั้งก็จะทำให้อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ไม่ทนทาน และเสียหายได้ไวกว่าเดิม แต่หากเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ มีการรับประกัน ใช้วัสดุที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น แต่บางครั้งแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ ก็อาจจะมีราคาที่แพงกว่า แต่ถ้าเทียบกับอายุการใช้งาน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มทุน และคุ้มค่าในระยะยา  

การติดตั้ง

สำหรับระบบการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้าน อาคารสำนักงาน หรือโรงงาน ก็เป็นสิ่งที่ผู้ติดตั้งควรให้ความสำคัญ เพราะในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ต้องมีการสำรวจพื้นที่ก่อนการติดตั้งทุกครั้ง เพื่อคำนวณโครงสร้างหลังคาว่า สามารถรองรับน้ำหนักได้เท่าไหร่ คำนวณขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ที่รองรับ คำนวณจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ว่า ต้องใช้งานกี่แผง รวมถึงการติดตั้งอินเวอร์เตอร์โซลาร์เซลล์สำหรับแปลงกระแสไฟฟ้า และการเดินสายไฟต่างๆ ซึ่งหากผู้ใช้งานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผิดวิธี ก็ส่งผลต่ออายุการใช้งาน และอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ดังนั้นในการติดตั้งควรเลือกผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ มีความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง และมีบริการที่ได้มาตรฐาน

ตำแหน่งในการติดตั้ง

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ คือ ตำแหน่งในการติดตั้ง ซึ่งก่อนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทุกครั้ง ควรทำความเข้าใจก่อนว่า แผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากความร้อนของดวงอาทิตย์ แต่แผงโซลาร์เซลล์จะผลิตพลังงานไฟฟ้า จากแสงแดดที่ตกกระทบลงบนแผง ทำให้ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คือ ทิศใต้ เพราะเป็นตำแหน่งที่แผงโซลาร์เซลล์ สามารถรับแสงแดดมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ตลอดทั้งวันนั่นเอง

อุณหภูมิโดยเฉลี่ยบริเวณที่ตั้ง

 หากบริเวณที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีอุณหภูมิสูงมากเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน อุณหภูมิที่สูงมากเกินไป จะยิ่งทำให้แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง ตัวแผงก็เสื่อมสภาพไวมากขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย ดังนั้น อุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่พอเหมาะกับการติดตั้ง ไม่ควรเกิน 25-30 °C ที่สำคัญ พื้นที่ที่ติดตั้ง ควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก และมีลมพัดผ่าน ก็จะช่วยระบายความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ได้

การดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์

นอกจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ถูกวิธี และเหมาะสมแล้ว การดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ติดตั้งควรให้ความสำคัญ ถึงแม้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ ถูกออกแบบให้ทนต่อทุกสภาพอากาศ  แต่การดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยยืดอายุการใช้งานได้ ทั้งการตรวจสอบระบบการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ การเดินสายไฟต่างๆ ความสามารถในการจ่ายพลังงาน และการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์จากฝุ่นละออง หรือมูลสัตว์ต่างๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

การยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นอุปกรณ์ที่ต้องติดตั้งไว้บนหลังคาบ้าน อาคาร หรือที่กลางแจ้ง เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้การติดตั้งทุกครั้ง จึงควรดูแลหลังการติดตั้งด้วย เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรก ฝุ่นละออง ใบไม้ วัสดุอันตรายอื่นๆ ไปเกาะอยู่บนตัวแผงโซลาร์เซลล์ เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานลดลงได้ ผู้ใช้งานจึงควรดูอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ให้มีประสิทธิภาพยาวนาน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ

แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา ดาดฟ้าอาคาร หรือหลังคาโรงงาน โดยไม่ได้มีการทำความสะอาด และปล่อยให้แผงโซลาร์เซลล์สกปรก จนเกิดคราบเหนียว จากฝุ่นละออง มูลนก เศษใบไม้ สิ่งปนเปื้อนที่มากับน้ำฝน สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการใช้งาน ทำให้ประสิทธิภาพการรับแสงอาทิตย์ และการผลิตพลังงานไฟฟ้าลดลง 
อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้าน ควรมีการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์อย่างน้อย 3–4 ครั้งต่อปี หากโซลาร์เซลล์อยู่ในที่ที่ทำความสะอาดง่าย แนะนำว่า ใช้น้ำเปล่าและแปรงนุ่มในการทำความสะอาดเท่านั้น ไม่ควรใช้น้ำยาอื่นทำความสะอาด เพราะจะทำให้แผงโซลาร์เซลล์เสียหาย แต่หากโซลาร์เซลล์อยู่บนหลังคาสูง แนะนำให้เลือกทีมงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในการทำความสะอาด โดยการทำความสะอาด จะทำให้แผงโซลาร์เซลล์ รับพลังงานแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ และผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หมั่นเช็กและดูแลระบบของแผงโซลาร์เซลล์

นอกจากการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ก็ยังมีระบบการทำงานของแผง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ควรดูแล โดยอุปกรณ์ต่างๆ ต้องไม่ชำรุด เสียหาย ไม่มีคราบฝุ่น การทำรังของสัตว์ต่างๆ นอกจากนี้ การจ่ายพลังงานไฟฟ้า ต้องไม่มากหรือน้อยเกินไปจนผิดปกติ ซึ่งหากพบว่าอุปกรณ์ชำรุด การจ่ายพลังงานไฟฟ้าผิดปกติ ควรรีบแจ้งบริษัทที่ติดตั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งการดูแลอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น อินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่ ระบบควบคุม ระบบเชื่อมต่อ หรือสายไฟต่างๆ ที่นอกจะทำให้ยืดอายุการใช้งาน และระบบการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ก็ยังช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายของอุปกรณ์ต่างๆ ได้อีกด้วย

รีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานได้ไหม?

แผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยการแยกส่วนประกอบต่างๆ สำหรับการรีไซเคิล ซึ่งการรีไซเคิลเป็นวิธีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี แทนการทิ้งหรือการใช้วิธีฝังกลบ เพราะแผงโซลาร์เซลล์ มีทั้งสารประกอบที่อันตราย เช่น แคดเมียม ตะกั่ว กรดไฮโดรคลอริก กรดไนตริก และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ และสารประกอบที่ไม่อันตราย แต่เป็นสารประกอบที่มีมูลค่า เช่น แพลตตินั่ม เทลลูเรียม จอร์เมเนียม  และอินเดียม ทำให้ต้องมีการจัดการที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้สารอันตรายปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม

วิธีการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์

สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน ต้องมีวิธีการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ และมีการจัดการแต่ละชิ้นส่วนอย่างเป็นระบบ ดังนี้
ชิ้นส่วนอะลูมิเนียมและแก้ว จำนวนร้อยละ 90-100 สามารถนำมารีไซเคิล เพื่อหลอมเป็นส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์
แผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ (Silicon wafer) จำนวนร้อยละ 80 สามารถรีไซเคิลได้ โดยนำมาละลายกับสารที่เป็นกรด สำหรับนำไปใช้ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ใหม่
ชิ้นส่วนพลาสติกและอื่นๆ จะนำมาหลอมละลายที่ อุณหภูมิ 500°C เพื่อให้ชิ้นส่วนระเหย
แต่การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน ก็ยังมีข้อแตกต่างกัน คือ ชิ้นส่วนแผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง จำนวนร้อยละ 90 สามารถนำมารีไซเคิลโดยการตัดชิ้นส่วนของแผงแบ่งเป็น 5 มม. ในขนาดที่เท่ากัน และโลหะที่เป็นของแข็งกับของเหลว จะนำไปแยกออกโดยเครื่องหมุนแยกโลหะ และนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป

กฎหมายเกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน

สำหรับในประเทศไทย ภาครัฐก็ได้ออกนโยบายเกี่ยวกับ การจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ 21 เกี่ยวกับการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยกชิ้นส่วน และกำจัดที่ถูกต้อง เพื่อลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของต่างประเทศ อย่างสหภาพยุโรป พบว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน ถือเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องกำจัด และรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามกฎหมาย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สรุป

แผงโซลาร์เซลล์มักมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 25 ปี แต่ก็ยังใช้งานได้นานมากสุด 30-40 ปี จากนั้นประสิทธิภาพจะลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยเราสามารถช่วยดูแลเพื่อยืดอายุการใช้งานได้ แต่หากแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพจนหมดอายุการใช้งาน ก็ควรนำไปรีไซเคิลให้ถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับใครที่อยากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ควรเลือกบริษัทที่มีแผงโซลาร์เซลล์คุณภาพ มีผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งแผงโซลาร์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้