Last updated: 24 พ.ค. 2567 | 117 จำนวนผู้เข้าชม |
ไฟมาไม่เต็มเฟส เกิดจากอะไร
ติดตั้งไฟฟ้าระบบ 3 เฟส แต่ไฟมาไม่ครบ สาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง มาดูกันเลย
การใช้ไฟพร้อมกันทีละจำนวนมาก
กรณีที่มิเตอร์ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน แล้วมีการใช้ไฟพร้อมกันทีละจำนวนมาก หรือมีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไฟมาไม่ครบ 3 เฟส เพราะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้ไม่เต็มกำลังไฟ
การเกิดไฟกระชาก
ไฟกระชาก เกิดจากแรงดันไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งมายังอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแรงดันไฟฟ้านั้นขาดเสถียรภาพในการใช้งาน จึงส่งผลให้ไฟมาไม่ครบ 3 เฟส การทำงานของเครื่องไฟฟ้าทำงานได้ไม่เต็มกำลังไฟ หรืออาจมีการชำรุด เสียหาย หรือเกิดการช็อตได้ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โดยสาเหตุของไฟกระชากอาจเกิดจากสายไฟชำรุด การติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือภัยธรรมชาติ
การเกิดไฟช็อต
สาเหตุของไฟมาไม่ครบเฟส อาจมาจากการเกิดไฟช็อตของสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งอาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมากกว่าปกติ หรืออาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร นำไปสู่การเกิดเหตุไฟไหม้ได้
สภาพอากาศแปรปรวน
ไฟมาไม่ครบเฟส อาจเกิดได้จากสภาพอากาศแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดฝนตก มีพายุ ฟ้าผ่าลงที่หม้อแปลงหรืออากาศมีความชื้นสูง ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าไม่พอจ่าย สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อาจมีบางเครื่องที่ทำงานและไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น หลอดไฟ มีแสงสว่างที่ลดน้อยลง
ไฟมาไม่เต็มเฟส ส่งผลอย่างไร
หากเกิดเหตุไฟมาไม่ครบเฟส อาจทำให้ส่งผลกระทบต่างๆ ได้ ดังนี้
เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดความเสียหาย
เมื่อแรงดันไฟฟ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแรงดันไฟฟ้าตกหรือมีการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง อาจส่งผลให้เกิดไฟกระชากทำให้วงจรไฟฟ้าเกิดความเสียหาย หรือกระแสไฟฟ้าเกิดการขัดข้อง รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจหยุดทำงานชั่วคราว โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ในตัว เช่น ปั๊มน้ำ ตู้เย็น พัดลม เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องจักร ถ้าหากเกิดปัญหาไฟมาไม่ครบเฟสบ่อยครั้ง อาจส่งผลให้อายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าสั้นลง ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจพังเสียหายลงได้
อาจเกิดอันตรายต่อคนที่อยู่ภายในอาคาร
ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งตามโรงงานอุตสาหกรรม ตึก หรืออาคารที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เพื่อให้มีแสงสว่างสำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรม หรือกระบวนการผลิตต่างๆ หากเกิดปัญหาไฟมาไม่ครบ 3 เฟส อาจทำให้ไฟดับ หรือไฟตก นอกจากทำให้ไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมแล้ว ยังส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรต่างๆ ที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อคนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือบริเวณภายในอาคารได้
ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าพร้อมกันได้
หากโรงงานอุตสาหกรรม ตึก หรืออาคารเกิดปัญหาไฟมาไม่ครบ 3 เฟส อาจส่งผลให้ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าพร้อมกันได้ ซึ่งรวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องจักรที่ใช้กำลังไฟสูงๆ ที่อาจทำให้บางเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ หรือใช้งานได้ไม่เต็มกำลังไฟนั่นเอง
วิธีป้องกันไฟมาไม่เต็มเฟส ทำได้อย่างไร
ถ้าหากเกิดปัญหาไฟมาไม่ครบเฟสบ่อยครั้ง สามารถป้องกันและแก้ไขได้ ดังนี้
ซ่อมแซ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
ปัญหาไฟมาไม่ครบ 3 เฟส อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดไฟช็อตหรือไฟรั่วได้ หากปล่อยให้ปัญหาไฟมาไม่ครบ 3 เฟสเกิดขึ้นได้บ่อยๆ อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น จึงควรตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด หรือตรวจสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และรีบทำการซ่อมแซ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไฟไหม้หรือไฟดูด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ติดตั้งแหล่งพลังงานสำรอง
ปัญหาไฟมาไม่ครบ 3 เฟส มีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟพร้อมกันทีละจำนวนมาก การเกิดไฟกระชาก การเกิดไฟช็อต หรือสภาพอากาศแปรปรวน โดยวิธีป้องกันที่ดีคือการติดตั้งแหล่งพลังงานสำรอง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมแบตเตอรี่ เพื่อลดปัญหาของระบบไฟฟ้าที่มาจากโครงข่ายของการไฟฟ้า ส่วนการติดตั้งแบตเตอรี่จะช่วยควบคุมการผลิตไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ตึก หรืออาคารสูงที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ควรติดตั้งเครื่องปั่นไฟ เอาไว้เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันกรณีของไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรือไฟมาไม่ครบเฟสในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
สรุป
ไฟมาไม่ครบเฟส คือ ความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหรือสภาวะความไม่เท่ากันของกระแสไฟฟ้าแต่ละเฟส โดยสาเหตุของไฟมาไม่ครบ 3 เฟส เกิดได้จากกรณีมิเตอร์ไฟไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้ไฟ แล้วมีการใช้ไฟพร้อมกันทีละจำนวนมาก การเกิดไฟกระชาก ไฟช็อต หรือภัยธรรมชาติ ส่งผลให้แรงดันไฟฟ้าขาดเสถียรภาพในการใช้งาน วงจรไฟฟ้าเกิดความเสียหาย หรือกระแสไฟฟ้าเกิดการขัดข้อง รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานสั้นลง หรือไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
27 พ.ค. 2567
27 พ.ค. 2567
10 ก.ย. 2567
27 พ.ค. 2567